วันพฤหัสบดีที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2558

"ยาปฏิชีวนะ ไม่ใช่ ยาแก้อักเสบ"

   


     หลายคนมักเข้าใจผิดและเรียกสับสน ว่ายาปฏิชีวนะเป็นยาแก้อักเสบ เพราะเมื่อติดเชื้อแบคมีเรียแล้วกินยาปฏิชีวนะ ยาจะไปฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของต่อมทอลซิลอักเสบเป็นหนอง เมื่อเชื้อตายไปอาการคออักเสบ(เจ็บคอ คอแดง เป็นหนอง) จะลดลงเองโดยอัตโนมัติ คนจึงมักเรียกผิดว่าเป็น ยาแก้อักเสบ


      "ยาแก้อักเสบ" (ยาต้านการอักเสบ Anti-inflamatory drugs) เป็นยาที่มีฤทธิ์แก้ปวด ลดไข้ ลดบวมอักเสบ โดยไม่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรค เช่น ไอบูโพรเฟน ไดโคลฟีแนค แอสไพริน 

ส่วน "ยาปฏิชีวนะ"(Antibiotics) เป็นยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ไม่มีฤทธิ์แก้อักเสบโดยตรง เช่น เพนนิซิลลิน อะม๊อกซีซิลลิน

"เจ็บคอ...แบบไหน ควรใช้ยาปฏิชีวนะ"

    


      อาการไข้ต่ำๆ ตั้งแต่ 37.6 เรื่อยไปจนถึง ไข้สูง 40 องศาเซลเซียส เจ็บคอ คอแดง ต่อมทอนซิลบวมแดง อาจมีอาการไอ เสียงแหบและมีน้ำมูกร่วมด้วย ส่วนใหญ่เกิดจาก"เชื้อไวรัส" ไม่ต้องกินยาปฏิชีวนะก็หายได้ โดยภูมิต้านทานของร่างกาย การพักผ่อนและกลั้วคอด้วยน้ำเกลือจะช่วยให้หายเร็วขึ้นค่ะ


     ส่วนอาการที่เกิดจากการติด"เชื้อแบคทีเรีย"(พบไม่เกินร้อยละ15) คือ ไข้สูงปานกลาง 38.3-39.0 องศาเซลเซียส เจ็บคอมาก คอแดงจัด ลิ้นไก่บวมแดง ทอนซิลบวมแดงมีจุดหนอง ลิ้นเป็นฝ้าขาว อาจคลำพบต่อมน้ำเหลืองโตบริเวณลำคอด้านนอกและกดเจ็บ โดยแทบจะไม่มีอาการของหวัด (น้ำมูกไหล คัดจมูก ไอ มีเสียงแหบ) ควรใช้ยาปฏิชีวนะ เพราะช่วยให้โรคหายเร็วขึ้นและป้องกันโรคแทรกซ้อนได้
     การรักษาตนเองโดยไม่ได้รับการตรวจร่างกาย ย่อมไม่สามารถแยกได้ระหว่างการติดเชื้อแบคทีเรียกับการติดเชื้อไวรัส ดังนั้นหากแยกไม่ออก วิธีที่ถูกต้องและควรกระทำคือ การไม่ใช้ยาปฏิชีวนะจนกว่าจะได้รับการตรวจร่างกาย และได้รับการวินิจฉัยโรคอย่างถูกต้องแล้วเท่านั้นนะคะ

"โรคคอตีบ"

      "โรคคอตีบ" เป็นโรคที่มีอัตราตายสูงในผู้ป่วย 10 ราย จะมีผู้เสียชีวิต 1 ราย ซึ่งในปี 2552 
มีการระบาดของโรคในเด็ก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ ปี 2555 ได้มีการระบาดอีกครั้งในผู้ใหญ่ โดยเฉพาะในกลุ่มอายุ 20-50 ปี ที่มีระดับภูมิคุ้มกัน ไม่เพียงพอต่อการป้องกันโรค...


      โรคคอตีบเป็นโรคติดเชื้อเฉียบพลันของระบบทางเดินหายใจเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Corynebacterium diphtheriae ที่สร้างพิษ ทำให้เกิดการอักเสบมีเนื้อตาย เป็นแผ่นฝ้าเกิดขึ้นในลำคอและมีการตีบตันของทางเดินหายใจ สร้างพิษทำอันตรายต่อกล้ามเนื้อหัวใจและเส้นประสาทส่วนปลาย
      สามารถติดต่อทางการหายใจ ไอ จามรดกัน หรือพูดคุยกันในระยะใกล้ชิด อาจติดต่อโดยการใช้ภาชนะร่วมกัน เช่น แก้วน้ำ ช้อน หรือ การดูดอม ของเล่นร่วมกันในเด็กเล็ก อาการของโรค ช่วงแรก จะมีไข้ต่ำ ๆ คล้ายหวัด ไอมีเสียงก้อง เจ็บคอ เบื่ออาหาร ต่อมาจะเริ่มมีแผ่นฝ้าสีขาวอมเทาในลำคอ ในรายที่รุนแรงจะมีการตีบตันของทางเดินหายใจ หายใจไม่ออก มีอันตรายถึงตายได้
   
      ดังนั้น ผู้ที่มีอายุ 20-50 ปี ควรไปรับการฉีดวัคซีนรวมโรคคอตีบ-บาดทะยัก ที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้านฟรี ... !!! เพื่อเพิ่มระดับภูมิคุ้มกันของร่างกายให้สูงเพียงพอต่อการป้องกันโรค

     ภายหลังได้รับวัคซีนแล้วหากมีอาการปวดมากให้ใช้น้ำเย็นประคบ และให้รับประทานยาแก้ปวดตามคำแนะนำของแพทย์ และหากมีไข้ต่ำๆ ให้เช็ดตัวด้วยน้ำธรรมดา โดยเฉพาะบริเวณซอกคอ ข้อพับต่าง ๆ ควรเช็ดมาก ๆ เพื่อช่วยพาความร้อนออกจากร่างกายและอาจให้ยารับประทานลดไข้ ตามคำแนะนำของแพทย์ หากอาการ ไม่ดีขึ้นให้รีบมาพบแพทย์นะคะ


ขอบคุณภาพประกอบจาก http://www.thaihealth.or.th/

"5 วิธีล้างผัก....ลดสารฆ่าแมลง"



ภาพจาก  idreamofeden.com
ผักสดที่เราบริโภคอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ แต่อาจมีสารฆ่าแมลงปนเปื้อนอยู่หลายชนิด โดยพบว่า ผักที่มีการปนเปื้อนมากที่สุด คือ กะเพรา รองลงมาคือ ถั่วฝักยาว, คะน้า ,ผักบุ้งจีน, กวางตุ้ง, มะเขือเปราะ ตามลำดับ  
และสารเคมีกำจัดแมลงที่พบการตกค้างในผักมากที่สุดคือ ยาฆ่าแมลงชนิด ไซเปอร์เมทริน  (กลุ่มไพรีทอยด์) และชนิดของสารเคมีที่ตกค้างในผักหลากชนิดมากที่สุด คือไซเปอร์เมทริน และคลอร์ไพริฟอส (กลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต) จึงขอแนะนำ “5 วิธีล้างผัก....ลดสารฆ่าแมลง” ดังนี้
1.ใช้โซเดียมไบคาร์บอเนต (เบ๊กกิ้งโซดา)  1 ช้อนโต๊ะ/น้ำอุ่น 20 ลิตร  แช่น้ำนาน 15 นาที จากนั้นล้างด้วยน้ำสะอาด ลดปริมาณสารตกค้างได้ 80-95 %
2.เด็ดผักเป็นใบ  ใช้น้ำสะอาดไหลผ่านหลายๆครั้ง  ลดปริมาณสารตกค้างได้ 54-63 %
3.ใช้ด่างทับทิม  20-30 เกล็ด ผสมน้ำ 4 ลิตร  แช่น้ำนาน 10 นาที จากนั้นล้างด้วยน้ำสะอาด  ลดปริมาณสารตกค้างได้ 35-43 %
4.ใช้น้ำส้มสายชู  1 ช้อนโต๊ะ/น้ำ 4 ลิตร  แช่นาน 10 นาที จากนั้นล้างด้วยน้ำสะอาด  ลดปริมาณสารตกค้างได้ 29-38 %
5.ใช้เกลือป่น  1 ช้อนโต๊ะ ผสมน้ำ 4 ลิตร แช่นาน 10 นาที จากนั้นล้างด้วยน้ำสะอาด ลดปริมาณสารตกค้างได้ 27-38 %


และการปลูกผักสวนครัวไว้รับประทานเองเป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะทำให้ท่านปลอดภัยจากสารพิษตกค้างได้



ที่มา